1. การจัดการพลังงาน
ธุรกิจโรงพยาบาลศัลยกรรมมีอัตราการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ค่อนข้างสูง เนื่องจากจะต้องมีการจ่ายไฟให้อุปกรณ์ทางการแพทย์ และอุปกรณ์อำนวยความสะดวกภายในโรงพยาบาลตลอดเวลา ดังนั้นบริษัทฯ จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการใช้พลังงานให้เกิดการใช้อย่างมีประสิทธิภาพและคุ้มค่ามากที่สุด โดยในปี 2565 ทางบริษัทฯ ได้เริ่มให้พนักงานและผู้บริหารทุกคนได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงาน โดยการให้ความสำคัญกับการใช้ไฟฟ้าอย่างคุ้มค่ามากที่สุดและยังสามารถที่จะคงประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเอาไว้ได้ ซึ่งบริษัทฯ ได้เริ่มให้แนวทางที่สามารถทำได้ง่ายๆ ให้แก่บุคลากรทุกคนนำไปปฏิบัติดังต่อไปนี้
- การส่งเสริมให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยประหยัดไฟโดยปิดไฟหรืองดเว้นการใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น
- การกำหนดช่วงเวลาเปิดและปิดของเครื่องปรับอากาศในส่วนที่ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปิดเอาไว้ตลอด
- เลือกใช้เครื่องปรับอากาศขนาดเหมาะสมกับขนาดห้องและอาคาร และเลือกใช้เครื่องปรับอากาศที่มีประสิทธิภาพสูงและมีฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
- ปิดประตูหน้าต่างและผ้าม่านกันความร้อนจากภายนอก
- ปิดประตูหน้าต่างให้มิดชิดไม่ให้ความเย็นรั่วไหล
- การเลือกใช้หลอดไฟที่มีกำลังวัตต์เหมาะสมกับการใช้งานภายในห้องและอาคาร
- การบำรุงรักษาเครื่องใช้ไฟฟ้าให้มีสภาพดีตลอดเวลา
- ส่งเสริมความรู้ทางด้านการอนุรักษ์พลังงานให้แก่พนักงาน และผู้เข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาลทุกคนผ่านแผ่นป้ายต่างๆ ภายในอาคารของบริษัทฯ
2. การบริหารจัดการน้ำ
บริษัทฯ ได้ส่งเสริมให้บุคลากรทุกคนได้รู้จักคุณค่าของการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยได้ส่งเสริมทั้งองค์ความรู้และแนวปฏิบัติในการใช้น้ำให้เกิดคุณค่า การให้พนักงานและผู้บริหารทุกคนในบริษัทฯ ได้ตระหนักถึงภาวะการขาดแคลนน้ำ รวมไปถึงให้แนวทางและตัวอย่างของการใช้น้ำที่ทำให้เกิดประโยชน์มากที่สุด ทั้งนี้ในปี 2565 บริษัทฯ ได้ริเริ่มกำหนดแนวปฏิบัติการใช้น้ำภายในองค์กร ดังต่อไปนี้
- บริษัทฯ ได้มีการติดตั้งระบบบำบัดน้ำเสียเพื่อลดการปล่อยน้ำเสียลงสู่สิ่งแวดล้อมภายนอก สามารถบำบัดน้ำเสียได้ปีละ 18,000,000 ลิตร
- การรณรงค์ให้พนักงานงานและผู้บริหารทุกคนปิดน้ำเมื่อไม่ได้ใช้และใช้น้ำเมื่อยามจำเป็น
- มีการตรวจสอบระบบประปาและระบบบำบัดน้ำเสียของบริษัทฯ อยู่เสมอ
- ส่งเสริมความรู้ทางด้านการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดให้แก่บุคลากร และเข้ามาใช้บริการภายในโรงพยาบาลทุกคนผ่านแผ่นป้ายต่างๆ ภายในอาคาร
- ตรวจสอบคุณภาพน้ำภายในบริษัทฯ อยู่เสมอ โดยตรวจสอบคุณภาพน้ำเป็นประจำทุก 4 เดือน
3. การบริหารจัดการขยะของเสีย และมลพิษ
บริษัทฯ มีการดำเนินการกำจัดของเสีย ขยะ และยาหรือเวชภัณฑ์ที่หมดอายุแล้วอย่างเป็นระบบ มีการคัดแยกขยะออกเป็นตามประเภท ควบคู่ไปกับการสร้างจิตสำนึกและการมีส่วนร่วมของพนักงาน โดยสัญลักษณ์ที่ใช้แสดงชนิดของขยะประเภทต่างๆ ในโรงพยาบาลสามารถแบ่งออกเป็น 4 ชนิดคือ 1 ขยะทั่วไป 2 ขยะรีไซเคิล 3 ขยะติดเชื้อ 4 ยาและเวชภัณฑ์ที่นับเป็นสารเสพติดประเภทที่ 1 ตามประกาศของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งขยะที่จัดให้อยู่ในประเภทที่ 1 และ 2 จะถูกรวบรวมโดยบุคลากรของบริษัทฯ ก่อนที่จะนำไปทิ้งโดยจะมีรถขยะจาก กทม. มารับและนำไปทำลายหรือรีไซเคิล แต่ในส่วนของขยะประเภทที่ 3 และประเภทที่ 4 ทางบริษัทฯ จะว่าจ้างบริษัทเอกชนอื่นที่มีความเชี่ยวชาญให้มารับไปทำลาย โดยขยะทั้งสองประเภท (ประเภทที่ 3 และประเภทที่ 4) จะมีวิธีในการรวบรวมและการจัดเก็บก่อนการนำไปทำลายที่แตกต่างกัน เพื่อลดผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อสิ่งแวดล้อมจากขยะที่มีมลพิษ
4. การจัดการเพื่อลดปัญหา ก๊าซเรือนกระจก
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) เป็นวิกฤตการณ์ที่กำลงส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อทุกประเทศทั่วโลก วิกฤติการณ์ดังกล่าวเป็นผลจากธรรมชาติและการกระทำของมนุษย์ที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเป็นอยู่ของประชาชน เช่น ภัยแล้ง อุทกภัยต่างๆ เป็นต้น รวมทั้งมีผลกระทบต่อเนื่อง ไปสู่ภาคเกษตรกรรม ห่วงโซ่อาหารความเป็นอยู่ของประชาชน ภาวะทางโภชนาการ การระบาดของโรค ซึ่งล้วนแต่เป็นผลสืบเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งบริษัทฯ ให้ความสำคัญกับการจัดการเพื่อลดปัญหาก๊าซเรือนกระจก โดยพบว่ากิจกรรมของธุรกิจที่มีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด คือ การใช้ไฟฟ้าจากเครื่องปรับอากาศในสำนักงาน ดังนั้นบริษัทฯ จึงมีมาตรการบำรุงรักษาเครื่องปรับอากาศและ การขอความร่วมมือพนักงานทุกคนในการลดการใช้ไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายการลดการใช้พลังงานของบริษัทฯ โดยในปี 2565 บริษัทฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายงานก๊าซเรือนกระจกและว่าจ้างผู้ทวนสอบเพื่อวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ